ฟันผุ อันตราย | รู้ไวรักษาก่อน

ฟันผุ เรื่องเล็ก ๆ ที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่

ฟันผุ เกิดได้จากหลายสาเหตุ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา อาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟันทำให้เกิดการอักเสบ และติดเชื้อปลายรากฟัน เกิดเป็นหนองและทะลุออกสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง แล้วลามไปส่งผลต่อระบบการกลืนอาหาร การหายใจ หรือการมองเห็น

สาเหตุของฟันผุเกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากรวมตัวกับเศษอาหารและน้ำลายสะสมกันจนเป็นคราบเหนียวที่เรียกว่า คราบพลัค หรือคราบแบคทีเรีย ซึ่งจะเกาะอยู่บนผิวของฟันแบคทีเรียเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพน้ำตาลและแป้งให้เป็นกรด มีฤทธิ์ทำลายแร่ธาตุที่ผิวฟัน จนก่อให้เกิดเป็นรู โดยเริ่มจากขนาดเล็กมากๆ ลุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโรคฟันผุ ถ้าไม่ได้รับการรักษาฟันผุจะลุกลาม ขยายใหญ่และลึกขึ้นเรื่อย ๆ เกิดการเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และสุดท้ายอาจต้องสูญเสียฟัน โดยต้องถอนออกไป

อาการของ “ฟันผุ”

1. เสียวฟัน เมื่อรับประทานอาหารร้อน หรือเย็น จากการที่ผิวฟันถูกกัดกร่อนทำลายจนเป็นรูผุจากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน

2. ปวดฟัน รากฟันอักเสบเป็นหนอง จากการที่ฟันผุทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน

3. หากเกิดอาการอับเสบ เป็นหนอง อาจเสี่ยงติดเชื้อลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตา ลำคอ โพรงไซนัส สมอง และระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกลืนอาหาร การหายใจ ไปจนถึงการมองเห็นได้

วิธีการรักษาฟันผุขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของฟันผุด้วย

ระยะที่ 1 : รักษาด้วย ฟลูออไรด์ มีคุณสมบัติช่วยป้องกันและฟื้นฟูสภาพฟันจากการผุ หากฟันผุในระยะแรกเริ่ม ทันตแพทย์จะแนะนำให้ใช้ฟลูออไรด์ ทั้งในรูปแบบยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เจล หรือสารเคลือบฟัน รวมทั้งแนะนำปริมาณน้ำตาลจากอาหารที่ควรรับประทาน เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุเพิ่มจากการสะสมของน้ำตาล

ระยะที่ 2 : รักษาด้วยการอุดฟัน เป็นวิธีการรักษาที่นำมาใช้ในระยะที่ฟันผุเข้าไปถึงชั้นผิวด้านใน แพทย์จะใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงอุดไปบริเวณที่มีรูฟันผุ

ระยะที่ 3 : รักษาด้วยการครอบฟัน ใช้ในกรณีที่ฟันผุกร่อนเป็นบริเวณกว้าง เหลือเนื้อฟันน้อย หรือมีสุขภาพฟันไม่แข็งแรง แพทย์จะกำจัดเนื้อฟันบริเวณที่ผุออกไปจนหมด ก่อนจะใช้วัสดุที่มีสีเหมือนฟัน หรือมีความแข็งแรงทนทานครอบไปที่ฟันซี่นั้น

ระยะที่ 4 : รักษาด้วยการรักษารากฟัน หากฟันผุลึกลงไปจนถึงโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะทำการรักษาที่โพรงประสาทฟันเพื่อรักษาในบริเวณที่ติดเชื้อ หลังจากนั้นทันตแพทย์จะทำการอุดในบริเวณคลองรากฟัน ก่อนที่จะทำการอุดปิดด้วยวัสดุสีเสมือนฟันหรือการทำครอบฟันต่อไป

ระยะที่ 5 : รักษาด้วยการถอนฟัน ในกรณีที่ฟันผุอย่างรุนแรงจนสูญเสียโครงสร้างที่สำคัญในการบูรณะฟันอาจจำเป็นต้องถอนฟันดังกล่าวออก แต่หลังจากถอนฟันแล้ว สามารถปรึกษาทันตแพทย์ได้ถึงวิธีการทดแทนช่องว่างของฟันซี่ที่ถูกถอนออกไป เช่น การใส่ฟันปลอม การใส่สะพานฟัน หรือการฝังรากฟันเทียม เพื่อทดแทนตำแหน่งฟันที่หายไป

เราจะเห็นได้ว่า ฟันผุ ทำให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ตามมาได้มากมาย และมีขั้นตอนการรักษาที่ยุ่งยาก เพราะฉะนั้นหากมีอาการปวดฟัน เสียวฟัน ควรที่จะรีบเข้าพบทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุถึงโพรงประสาทฟัน และนอกจากนี้ควรที่จะเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน รวมไปถึงขูดหินปูนเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคฟันต่าง ๆ ได้


การรักษาฟันผุจึงควรเลือกรักษากับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ พร้อมด้วยเครื่องมือที่ปลอดภัย สะอาด ทันสมัย

ทางคลินิกครอบครัวฟันดี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

ข้อมูลโดย
ทพญ. กนกรัสม์ ฉันทแดนสุวรรณ, กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณะสุข

Previous
Previous

ฟันคุด | อายุเท่าไหร่ถึงต้องผ่า

Next
Next

900 บาท / ปี | ทำฟันฟรี อะไรได้บ้าง ? (สิทธิประกันสังคม)